www.prathaithai.com ยินดีต้อนรับ

พระกำแพงซุ้มกอ-กรุทุ่งเศรษฐี

In Stock

0.00฿

สถานะ : พร้อมเช่า

สนใจสอบถาม : โทร. 096-6399591

Quantity
Compare

พระกำแพง “ซุ้มกอ” ทุ่งเศรษฐี
พระซุ้มกอ หรือเจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐีเป็นยอดพระเครื่องอันดับนำของจังหวัดกำแพงเพชรที่ใครได้ไว้บูชาติดตัวแล้ว นับว่าเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง เพชรนพเก้าค่าล้นปานใดก็ตาม บางครั้งก็หาเปรียบได้กับ พระซุ้มกอ ซึ่งสูงทั้งค่าและมีประสิทธิภาพซึ่งมนุษย์ไม่อาจเนรมิตได้ การมีชีวิตเพื่ออยู่และสร้างแต่กรรมดีแล้ว พระซุ้มกอ ย่อมคุ้มครองท่านได้เสมอ และสิ่งที่น่าอิจฉาสำหรับผู้มีพระพิมพ์นี้ยิ่งขึ้นก็คือ ท่านจะอยู่อย่างคนมีโชคตลอดเวลาทีเดียว
 เชื่อว่า มึงมีกูไม่จน ประกาศิตที่กังวานจากเจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐีนั้นจะเป็นใครกล่าวหรือใครพูดขึ้นเล่นก็ตามทีเถิด เพราะจนบัดนี้ ผู้ที่ใช้ พระซุ้มกอ แล้วก็ยังไม่เคยมีใคร บอกว่าห้อยพระซุ้มกอแล้ว ยากจน เลยสักรายเดียว
กำแพงเพชรเมื่อในอดีต
จากซากวัตถุโบราณบางชิ้นแสดงให้รู้ว่า กำแพงเพชร เมื่ออดีตนั้น คงเป็นส่วนหนึ่งที่ ขอม เข้ามามีอำนาจปกครองอยู่ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 1890  พระยาเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย ได้โปรดให้ฟื้นฟูบูรณะเมืองกำแพงเพชรขึ้นใหม่พร้อมกับพระราชทานนามว่า นครชุม แล้วยกให้เป็นเมืองลูกหลวงควบคู่กันไปกับ ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร แม้จะมีชื่อใหม่ในยุคนั้นว่า นครชุม แล้วก็ตาม ชาวเมืองก็ยังคงเรียกว่า ชากังราว หรือ นครชุม ตลอดมาจนถึงสมัยอยุธยา ในแผ่นดินของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงได้กลับมาเรียกเมือง 2 ชื่อนี้ใหม่อีกครั้งว่า กำแพงเพชร และได้กันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
เมือง กำแพงเพชร นี้ได้ประมาณกันว่ามีอายุกว่า 700 ปี ขึ้นไป นับเป็นเมืองหน้าด่านที่ต้องเผชิญกับภัยสงครามตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมา จนถึงสมัยกรุงธนบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 1926-2317 นับเป็นสงครามที่สร้างความบอบช้ำให้กับกำแพงเพชร ในช่วงนั้นไว้มาก
ก่อนหน้าที่จะเรียกกันว่า กำแพงเพชร นั้น ปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ. 1900 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ พระมหาธรรมราชาลิไทย ครองราชย์อยู่นั้น พระองค์นับเป็นกษัตริย์องค์เดียวของกรุงสุโขทัย ที่ทรงฝักใฝ่การพระศาสนามากกว่าด้านการทหาร
และในช่วงระยะ พ.ศ. 1900 ดังกล่าวนี้เอง กำแพงเพชร นับว่าเป็นเมืองสำคัญยิ่งนัก ทั้งนี้ก็เพราะ พระพุทธศาสนา ได้เจิดจ้าขึ้นอย่างคาดไม่ถึง จากศิลาจารึกหลักที่ 3 ได้แสดงให้รู้ว่า พระมหาธรรมราชาลิไทย ได้เสด็จไปสถาปนาพระบรมธาตุ, ปลูกพระศรีมหาโพธิ์, และยังได้บำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับการพระศาสนาไว้ ณ ที่ นครชุม นั้นอีกเป็นอันมาก
นอกจากนั้น กำแพงเพชร จากตำนานยังได้กล่าวไว้ว่า เมืองนี้ได้เคยเป็นที่ประดิษฐานองค์พระแก้วมรกต, และพระพุทธสีหิงค์อีกด้วย
ณ จังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบันนี้ ถ้ามองจากตัวจังหวัดพุ่งสายตาข้ามลำน้ำปิงไปทางทิศนะวันตกก็จะพบกับผืนแผ่นดินนั่นนั้น ซึ่งเมื่อครั้งอดีต คือ นครชุม แต่ปัจจุบันนี้เป็น ตำบล ซึ่งรู้จกกันทั่วไปว่า ทุ่งเศรษฐี อาณาจักรของพระเครื่องที่โด่งดังในด้านโชคลาภมหานิยมยิ่งนัก
และที่ฝั่งลำน้ำปิง ซึ่งใกล้กับปากคลองสวนหมากฝั่งนครชุมนั้นเอง จะปรากฏ วัดพระบรมธาตุ อารามหลวงที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไทย กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงในรัชกาลที่ 5 ได้เป็นผู้สถาปนาพระบรมธาตุ ไว้เมื่อ พ.ศ. 1900 นอกจากนั้น ที่ลานทุ่งเศรษฐียังปรากฏโบราณสถานที่รกร้างเหลืออยู่บ้าง, กับที่เป็นเนินดินไม่ปรากฏซากปรักหักพังเสียก็มาก คงมีแต่ชื่อวัดที่สำคัญ เช่น วัดพิกุล, วัดฤาษี, วัดทุ่งเศรษฐี, วัดน้อยบ้านไร่, วัดเจดีย์กลางทุ่ง ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ ประมาณว่าได้กำเนิดขึ้นยุคเดียวกัน โดยอยู่ที่ลานทุ่งเศรษฐีทั้งสิ้น นอกจากนั้น วัดสำคัญที่กำเนิดในสมัยเดียวกันแต่อยู่ฝั่งจังหวัดก็มีเช่น วัดอาวาสน้อย, วัดอาวาสใหญ่, วัดช้างล้อม,วัดกำแพงงาม, วัดสี่อิริยาบถ, วัดเชิงหวาย, วัดช้าง, วัดป่ามืด, วัดพระแก้ว, วัดพระนอน, วัดกะโลทัย, วัดพระธาตุ และวัดนาคเจ็ดเศียร ฯลฯ เป็นต้น
ปฐมเหตุที่ทำให้พบกรุกำเนิดอันเป็นที่มาของพระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ นั้น ก็ด้วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ แห่งวัดระฆังฯ ได้ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2392 ท่านได้อ่านศิลาจารึกที่วัดเสด็จ ก็พบว่าที่เมืองกำแพงเพชรนี้ ยังมีโบราณสถานและพระบรมธาตุอยู่ทางฝั่งตะวันตก ซึ่งได้สร้างไว้เมื่อ พ.ศ. 1900 พระยากำแพง เจ้าเมืองเดิมจึงบุกป่าสำรวจตามแผ่นศิลาจารึกนั้น ก็พบพระเจดีย์ 3 องค์ องค์ใหญ่เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุไว้ด้วย ต่อมา พระยาตะก่า จึงได้ขอปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ทั้ง 3 นั้น โดยรวมเข้าเป็นองค์เดียวกันแล้วสร้างเป็นแบบศิลปพม่า แต่พระยาตะก่าได้สิ้นชีวิตเสียก่อนจะปฏิสังขรณ์เสร็จต่อมา พะโป้ และ นางทองย้อย จึงได้ทำการสร้างต่อจนสำเร็จในที่สุด
ในปัจจุบันนี้เหนือลำน้ำแม่ปิงขึ้นไปบนฝั่งนครชุมวัดที่จะยังคงอยู่ก็แต่ วัดพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพระเครื่องกรุแรกเท่านั้น และจากคราวท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ได้อ่านศิลาจารึกและพ่อเมืองกำแพงเพชรได้ไปสำรวจพบพระเจดีย์จน พระยาตะก่า และ พระโป้ ได้ขอบูรณปฏิสังขรณ์เสียใหม่ในครั้งนั้นนั่นเอง เมื่อทำการรื้อเจดีย์ก็ได้พบพระพุทธรูปและพระเครื่องมากมายอยู่ในเจดีย์นั้นทั้งยังเป็นที่ประจักษ์อีกว่า ผู้สร้างพระเจดีย์ทั้ง 3 องค์นั้น ได้เป็นผู้นำพระบรมธาตุจากลังกามาบรรจุไว้อีกด้วย นั่นก็คือ พระมหาธรรมราชาลิไทย กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยนั่นเอง พระเครื่องที่พบทั้งหมดจาการปฏิสังขรณ์คราวนั้นจึงมีอายุ 600 กว่าปีขึ้นไป
ส่วนพระเครื่องที่ขึ้นจากกรุวัดพระบรมธาตุครั้งนั้นก็มี พระซุ้มกอ, พระเม็ดขนุน, พระพลูจีบ, พระซุ้มยอ พระเชยคางข้างเม็ด,พระท่ามะปราง, พระฝักดาบเนื้อว่านหน้าทอง-เงิน, พระกำแพงขาโต๊ะ, พระกำแพงขาว, พระนาคปรก, พระเม็ดมะรื่น,พระนางพญากำแพง, พระกลีบบัว, พระกำแพงห้าร้อย, พระกำแพงเรือนแก้ว, พระเปิดโลก, พระกลีบจำปา, พระเม็ดมะเคล็ด, พระสาม, พระเชตุพน, พระงบน้ำอ้อย, และพิมพ์อื่น ๆ มากกว่าร้อยพิมพ์ทีเดียว ทั้งนี้ยังปรากฏว่าพระแผงเช่นพระนารายฯทรงปืน, พระซุ้มกระรอกกระแต, พระสาม พระปางมหาปาฏิหาริย์ ก็ได้รวมอยู่ในกรุนี้ขึ้นมาอีด้วยเช่นกัน
จากการอ่านศิลาจารึก ที่วัดเสด็จจนเป็นผลให้นำไปสู่กรุพระเครื่องมหึมาและได้พบพระบรมธาตุด้วยแล้ว ยังได้พบแผ่นลานเงินจารึกอักษรขอม เป็นตำนานกล่าวไว้ว่า ตำบลเมืองพิษณุโลก, เมืองกำแพงเพชร, เมืองพิชัย, เมืองพิจิตร, เมืองสุพรรณ, ว่ามีฤาษี 11 ตน ฤาษีเป็นใหญ่ 3 ตน ฤาษีพิลาลัยตนหนึ่ง ฤาษีตาไฟตนหนึ่ง, ฤาษีตาวัวตนหนึ่ง ซึ่งเป็นประธานฤาษีทั้งหลาย จึงปรึกษากันว่าเราทั้งหลายนี้จะเอาอันใดให้แก่พระศรีธรรมาโศกราช ฤาษีทั้ง 3 จึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่าเราจำทำด้วยฤทธิ์ ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทองไว้ฉะนี้ ฉลองพระองค์จึงทำเป็นเมฆพัตรอุทุมพร เป็นมฤตย์พิศย์อายุวัฒนะ พระฤาษีประดิษฐ์ไว้ในถ้ำเหวใหญ่น้อย เป็นอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลายสมณชีพราหมณาจารย์ไปถ้วนทั่ว 5000 พรรษา พระฤาษีองค์หนึ่งจึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่าท่านจงไปเอาว่านทั้งหลายอันมีฤทธิ์เอามาให้ได้ 1000 เก็บเอาเกสรดอกไม้อันวิเศษที่มีกฤษณาเป็นอาทิจึงป่าวร้อยเทวดาทั้งปวงให้มาช่วยกันบดยา ทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่งทำเป็นเมฆพัตรสถานหนึ่ง ฤาษีทั้ง 3 องค์นั้นจึงบังคับฤาษีทั้งปวงให้เอาว่านทำเป็นผงเป็นก้อน ถ้าผู้ใดได้ถวายพระพรแล้วจึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด ให้ระลึกถึงพระฤาษีที่ทำไว้นั้นเถิด ฯลฯ
ยังมีข้อความที่พระฤาษีได้กล่าวอุปเท่ห์ไว้อีกมาก ถ้าหากท่านได้ทราบเรื่องราวข้อความจารึกจากแผ่นลานทองที่ได้จากพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณแล้ว บางท่านก็อาจจะสงสัยว่า ข้อความที่แปลจากใบลานทองดังกล่าว กับใบที่พบจากกรุพระปรางค์เมืองสุพรรณนั้น ช่างมีข้อความที่ออกจะไม่ต่างไปกว่ากันเลยละก้อ ขอให้นึกเสียว่า นั่นเป็นเรื่องราวที่ต่างก็ เล่ากันว่า… แล้วก็ยังมีการคัดลอกข้อความกันต่อ ๆ มาอีกเป็นทอด ๆ โดยจะจริงเท็จประการใดก็หาหลักฐานมาพิสูจน์ไม่ได้เลย
จากเรื่องราวดังได้กล่าวไปแล้ว จึงพอสรุปได้ว่าพระเครื่องในสกุลทุ่งเศรษฐีที่กำเนิดขึ้นระยะแรก โดยพระมหาธรรมาราชาลิไทยเป็นผู้สร้างไว้นั้น เมื่อ พ.ศ. 2524นี้แล้ว พระทุ่งเศรษฐีซึ่งพบครั้งแรกที่วัดพระบรมธาตุนั้น บัดนี้ได้แตกกรุออกมาเป็นเวลาถึง 132 ปีแล้ว และนับตังแต่ปีที่ได้สร้างพระ พ.ศ. 1900 พระทุ่งเศรษฐีกรุปฐมฤกษ์ก็จะมีอายุถึง 624 ปี

ลักษณะของศิลปะ
พระเครื่องซึ่งพบที่จังหวัดกำแพงเพชร ไม่ว่าจะเป็นของพระเครื่องของกรุปฐมฤกษ์ วัดพระบรมธาตุ อันเป็นปราการด่านแรกของพระกรุทุ่งเศรษฐี หรือจากกรุอื่น ๆ ในบริเวณทุ่งฯ หรือแม้แต่กระทั่งกรุฝั่งเมืองกำแพงเพชรปัจจุบันนี้ก็ตาม ในจำนวนพระเครื่องเหล่านั้นทั้งหมด ศิลปที่ปรากฏประมาณ 70% จะแสดงออกตามจินตนาการของช่างสุโขทัย ซึ่งจะมีทั้งศิลปสุโขทัยยุคต้น ยุคกลางและยุคปลาย โดยเฉพาะศิลปสุโขทัยแบบกำแพงเพชรมากที่สุด นอกจากนั้น พระอีกประมาณ 30% เราจะเห็นว่า ศิลปะ จะมีส่วนสัมพันธ์กันถึง 4 สมัย เช่นพระเครื่องบางองค์เป็นแบบ สุโขทัย แต่รับเอาอิทธิพลของศิลป เชียงแสน ผสมเข้าไว้ และบางองค์ก็รับอิทธิพลของศิลป อู่ทอง สัมพันธ์ร่วมไว้อย่างอลังการ แม้กระทั่งศิลป ลพบุรี ก็ยังเข้ามามีอำนาจอยู่ในพระเครื่องเมืองนี้อยู่ด้วยเช่นกัน
ก็ด้วยเหตุนี้เอง จากการพบกรุพระในลานทุ่งเศรษฐีนั้น บางครั้ง กลับมีผู้ได้พระเครื่องศิลปแบบอยุธยายุคต้นก็มี นั่นย่อมแสดงให้รู้ว่า สมัยราชวงศ์พระร่วงได้เสื่อมลงไปแล้ว ศิลปย่อมสืบสมัยต่อมาโดยไม่สิ้นสุด เมื่อสมัยอยุธยารุ่งโรจน์ ศิลปะ ของสมัยนั้นย่อมเข้ามามีอิทธิพลแทนที่ในระยะต่อมา
ดังนั้น นักเลงพระ ที่ชาญฉลาดเขามักจะสังเกต ศิลปะ ที่เกี่ยวโยงกัน ซึ่งจะสามารถบอกให้รู้ถึงอายุของพระได้ หรือสังเกต เนื้อ ก็จะบอกให้รู้ถึงความเก่า-ใหม่ และถ้าทราบประวัติศาสตร์ไว้บ้างก็จะเป็นส่วนหนึ่งให้เราได้รู้ว่าพระ ทุ่งเศรษฐี นี้ มิใช่จะมีแต่พระศิลปแบบสุโขทัยเสมอไปเพราะจากคำว่า กำแพงเพชร หมายถึง ปราการที่แข็งแกร่ง รู้จักกันดีอยู่ในสมัยอยุธยา ส่วน นครชุม นั้นอยู่ในสมัยสุโขทัย และ ชากังราว ต่างก็เข้าใจว่า อาจเป็นระยะหนึ่งที่อยู่ในความปกครองของขอม ดังนั้นจึงเป็นของแน่เหลือเกินที่อาจมีผู้ได้พระเครื่องศิลปแบบลพบุรี จากลานทุ่งเศรษฐีนี้ไว้บ้างก็ได้ แล้วด้วยเช่นกัน
พระกำแพงซุ้มกอ เป็นพระเครื่องปางสมาธิแบบ ขัดราบ ประทับนั่งบนฐานบัวเล็บช้างห้ากลีบ ด้านข้างทั้งสองขององค์พระใกล้ ๆ กับพระกรนั้นจะปรากฏลวดลายกนก 4 ขดม้วนตัววิ่งขึ้นไปบรรจบกับพระรัศมี ที่เป็นเส้นแฉกวิ่งจากประภามณฑล ที่ปรากฏ ที่ปรากฏล้อมรอบพระเศียรองค์พระซุ้มกอไว้อีกชั้นหนึ่ง อย่างอลังการไว้ทุกองค์ เว้นแต่พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์กลางบางพิมพ์เท่านั้น
พระซุ้มกอ หรือเจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี เป็นยอดพระเครื่องอันดับนำของจังหวัดกำแพงเพชรที่ใครได้ไว้บูชาติดตัวแล้ว นับว่าเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง เพชรนพเก้า ทองคำมากมาย แก้วแหวนเงินทองค่าล้นปานใดก็ตาม บางครั้งก็หาเปรียบได้กับ พระซุ้มกอ ซึ่งสูงทั้งค่าและมีประสิทธิภาพซึ่งมนุษย์ไม่อาจเนรมิตได้ การมีชีวิตเพื่ออยู่ของท่านและสร้างแต่กรรมดีแล้ว หมั่นระลึกถึงบาปบุญคุณโทษใส่ใจในทั้งสามโลก แล้วพระซุ้มกอ ย่อมคุ้มครองท่านได้เสมอ และสิ่งที่น่าอิจฉาสำหรับผู้มีพระพิมพ์นี้ยิ่งขึ้นก็คือ ท่านจะอยู่อย่างคนมีโชคตลอดเวลาทีเดียว

รีวิว

ยังไม่มีบทวิจารณ์

มาเป็นคนแรกที่วิจารณ์ “พระกำแพงซุ้มกอ-กรุทุ่งเศรษฐี”

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Your custom content goes here. You can add the content for individual product

Back to Top