www.prathaithai.com ยินดีต้อนรับ

พระขุนแผนกรุโรงเหล้า จ.อยุธยา(ไม่เคลือบ)

In Stock

0.00฿

Quantity
Compare

พระขุนแผนกรุโรงเหล้า จ.อยุธยา(ไม่เคลือบ)

กรุโรงเหล้า เป็นชื่อของวัดในสมัยโบราณ ปัจจุบันอยู่ในบริเวณหอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เมื่อลองกางแผนที่ ซึ่งเขียนขึ้นในสมัย สมเด็จพระบรมโกศ พบว่า บริเวณกรุโรงเหล้าแห่งนี้ ในสมัยก่อนมีความน่าจะเป็นไปอยู่ ๓ วัดด้วยกัน เพราะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน อันได้แก่ ๑.วัดจีน (ไม่ใช่วัดจีนหรือวัดรัตนไชยในปัจจุบัน) ๒.วัดโรงม้า และ ๓.วัดเจ๊ก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวัดไหน ก็เป็นวัดของชาวจีนแน่นอน เพราะชื่อฟ้องอยู่ชัดเจน
อีกประการหนึ่ง เป็นวัดที่อยู่ในย่านของชุมชนชาวจีน ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา คนเฒ่าคนแก่ยังเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า แต่ก่อนยังมี เตาเผาแบบโบราณ ตั้งอยู่ภายในบริเวณนี้

นับเป็นการสนับสนุนสมมุติฐานของผู้เขียน ที่เคยระบุไว้ว่า พระขุนแผนเคลือบ และ ไม่เคลือบ เป็นศิลปะแบบพู่กันจีน และสร้างโดยช่างชาวจีน ทั้งนี้ เมื่อลองมองภาพลายเส้นจากการเอกซเรย์ พระขุนแผนเคลือบ จะเห็นได้ชัดเจนว่า มีลักษณะลายเส้นพลิ้วไหวหนักเบาแบบพู่กันจีนชัดเจน สร้างและเผาเคลือบกันในย่านชุมชนชาวจีนแห่งนี้ ยุคสมัยที่มีการจัดสร้างนั้น น่าจะสร้างพร้อม พระขุนแผนเคลือบกรุ วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งเชื่อกันว่า สร้างโดยพระราชประสงค์ของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๑๓๓-๒๑๔๘)
อีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง สร้างโดย สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม (พระเพทราชา ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง ชาวสุพรรณบุรี พ.ศ.๒๒๔๖) ซึ่งไม่ว่าข้อสันนิษฐานใดถูกต้อง ก็ล้วนสร้างโดยพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
คุณปริญญา บุญประดับ เจ้าของ หจก.โรงงานอิฐ ม.อ.ท. เมืองอ่างทอง และยังมีโรงงานอยู่ที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ได้ให้ข้อมูลถึงส่วนผสมของประเภทดินที่เผาแล้วได้เนื้อหาใกล้เคียงกับ พระขุนแผน กรุโรงเหล้า และ พระขุนแผน กรุวัดจักรวรรดิ ว่า วัตถุดิบที่นำมาสร้างประกอบไปด้วยดินขาว ดินดำ และดินเหลือง ในปัจจุบันพบว่า ดินประเภทนี้มีอยู่ด้วยกัน ๓ แห่ง คือ ดินจาก ต.โคกไม้ลาย จ.ปราจีนบุรี, จ.จันทบุรี และ จ.ลำปาง
ผู้เขียนสันนิษฐานว่า พระที่เผาไม่ได้ที่ตามสูตร หรืออาจไม่แกร่งพอจะเผาเคลือบ หรือที่กดพิมพ์ได้ไม่ลงตัวนัก คือ มีปีกเกินกว้างออกไป ซึ่งในสมัยโบราณ ตลอดจนเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ พระที่กดพิมพ์ออกมาเป็นองค์พระแล้วจะไม่มีการทำลายโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะในกรณีใดๆ แม้จะกดพิมพ์ออกมาแล้วไม่สวย หรือไม่ตรงตามที่ต้องการก็ตาม

พระขุนแผน ที่ยังไม่ผ่านการเคลือบ อันเป็นกรรมวิธีขั้นสุดท้าย จำนวนหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้ว ก็จะนำมาทำพิธีบรรจุกรุ ซึ่งพบในปัจจุบันมีอยู่ ๒ กรุ คือ กรุโรงเหล้า อันเป็นสถานที่สร้างพระพิมพ์นี้ และ กรุวัดจักรวรรดิ (วัดเจ้ามอญ) ส่วนที่ วัดบ้านกลิ้ง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา น่าจะเป็น พระฝากกรุ เพราะพบเพียง ๒ องค์เท่านั้น และเมื่อพิจารณาจากสถานที่ตั้งของวัดที่พบ พระขุนแผน กรุโรงเหล้า พบว่า เลยไปทางทิศตะวันตก จะพบ วัดกระเบื้องเคลือบ หรือ วัดบรมพุทธาราม ซึ่งหลังคาพระอุโบสถวัดนี้สร้างด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งหลัง
วัดนี้เดิมทีเป็นวัดต้นตระกูลของ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (สุพรรณบุรี) สมัยนั้นเป็นถึงพระอารามหลวง มีความสำคัญยิ่ง เรื่องราวที่ผู้เขียนเสนอมาเหล่านี้ สามารถต่อยอดทางความคิด เกี่ยวกับพระเครื่องออกไปได้อีกหลายเรื่องด้วยกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนักสะสมพระเครื่องแต่ละท่าน ว่ามีหัวใจที่จะยอมรับความเป็นจริง หรือรักในประวัติศาสตร์ และโบราณคดี มากกว่านิทานประกอบการขายพระที่สร้างกันขึ้นมาเอง มากน้อยแค่ไหน และเชื่อต่อๆ กันมา โดยมิได้ตรวจทานข้อเท็จจริงใดๆ
โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่า ข้อเท็จจริงที่มีสมมุติฐานอันพิสูจน์ได้ เป็นส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่พระเครื่องแต่ละประเภทแต่ละกรุ อันเป็นหลักสากลที่วงการนักสะสมศิลปะโบราณคดียึดถือกันมาทั่วโลก
วัดจักรวรรดิ (วัดเจ้ามอญ) ตั้งอยู่ที่ ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา บริเวณเมืองอโยธยา นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา วัดแห่งนี้ต้องร้างลงเมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๓๑๐ และปรักหักพังไปตามกาลเวลา โดยธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ จนกระทั่งกรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีใน พ.ศ.๒๕๔๒-๒๕๔๔ การดำเนินงานครั้งนั้น ได้พบโบราณวัตถุทั้งสมัยอยุธยาตอนต้น และสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณปี ๒๕๐๐ เศษๆ ได้มีการพบ พระขุนแผน ที่มีลักษณะเดียวกับ พระขุนแผน กรุโรงเหล้า แต่เป็นพระที่มีเนื้อหาดูจะแกร่งกว่าที่ขึ้นกรุโรงเหล้าพอสมควร
พระที่ขุดพบนี้มีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นพระที่กดพิมพ์ได้ตื้น ไม่ชัดเจน และถูกกลุ่มนักสะสมพระกว้านซื้อกันไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันพบเห็นยากพอๆ กับ พระที่ขึ้นบริเวณกรุโรงเหล้า
พระขุนแผน กรุโรงเหล้า องค์ “ครูแผ้ว”
ครูแผ้ว ดิษยรักษ์ อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ปัจจุบันอายุ ๘๑ ปี ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อปี ๒๔๙๒ ขณะนั้นท่านกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.๘ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ที่บริเวณถนนโรจนะ แถบวิทยาลัยครู ได้มีการก่อสร้างทำพื้นถนน เจดีย์ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นได้หักโค่นลงมา รถแทรกเตอร์ได้เกลี่ยพื้นปรับหน้าดิน เป็นที่ราบกว่า ๒ ไร่ มีชาวบ้านไปพบเศษพระเครื่องแตกหักอยู่จำนวนหนึ่ง เป็น พระพิมพ์ขุนแผน แบบเดียวกับ พระขุนแผนเคลือบ เพียงแต่เป็น พระเนื้อดินขาว แบบเนื้อกระเบื้อง ออกสีชมพูจางๆ เป็นพระที่อยู่ในความชื้นสูง
เมื่อข่าวแพร่กระจายออกไป จึงมีผู้ขุดดินตามบริเวณที่ราบนั้น โดยขุดสุ่มลงไปตามจุดต่างๆ ส่วนมากจะได้แต่เศษพระแตกหัก พบพระสมบูรณ์ไม่กี่องค์ ตัวครูแผ้วเองก็ได้เพียรพยายามขุดสุ่มหาอยู่ ๖ วัน โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนไปแล้ว โดยต้องขุดลึกประมาณ ๑-๒ ฟุต จึงจะถึงชั้นที่พบพระขุนแผน ๖ วันแรกได้แต่พระแตกหักเป็นชิ้นส่วน จนกระทั่งวันสุดท้าย คือ วันที่ ๗ จึงได้พบ พระขุนแผน องค์ที่มีสภาพสมบูรณ์
ครูแผ้วกล่าวว่า จากการประเมินดูคร่าวๆ จากที่มีผู้ขุดพบ พระขุนแผน ในบริเวณนั้น แล้วเอามาอวดกัน คาดว่าได้พระสมบูรณ์รวมกันแล้วไม่เกิน ๑๐๐ องค์เท่านั้น
ต่อมาอีกหลายปี พระขุนแผน กรุโรงเหล้า องค์ที่ครูแผ้วได้มานั้น ท่านได้ปล่อยต่อให้กับ ลุงรัตน์ ศรีภมร ซึ่งผู้เขียนได้สอบถามไปยังลุงรัตน์ (ปัจจุบันอายุเกือบ ๙๐ ปี) ท่านเล่าว่า หลังจากได้พระขุนแผนจากครูแผ้วก็เก็บรักษาไว้หลายปี ได้มีประสบการณ์จากพระองค์นี้มากมาย ต่อมามีคุณจินดา เจ้าของโรงน้ำแข็ง มาขอเช่าต่อ หลังจากนั้นคงเปลี่ยนมือกันไปตามกระแสความนิยม ด้วยมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก และประสบการณ์ที่เลื่องลือกัน จนมีผู้พบเห็นอีกที พระขุนแผนองค์นี้ได้ตกอยู่กับ “โกล่ง” (คุณณรงค์ ด่านชัยวิโรจน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
ต่อมาพระองค์นี้ได้มีการเปลี่ยนมือไปอีกหลายคน จนถึงปัจจุบัน พระขุนแผน องค์นี้อยู่ที่ คุณปริญญา บุญประดับ เจ้าของโรงอิฐ ที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งท่านเจ้าของพระก็ใจดี ได้นำพระขุนแผน กรุโรงเหล้า องค์นี้ให้ผู้เขียนชม
พระขุนแผน กรุโรงเหล้า องค์“ครูแผ้ว” พระกรุในตำนาน ที่เคยอยู่ในคอของผู้มีชื่อเสียงใน จ.พระนครศรีอยุธยา หลายต่อหลายท่าน ผ่านประสบการณ์ที่บอกต่อแก่ผู้เขียนมากมายหลายสิบเรื่อง จากเจ้าของพระแต่ละท่านที่ได้ครอบครอง ก็ได้ปรากฏโฉมในหน้าพระเครื่อง นสพ.คม ชัด ลึก ในวันนี้ ถึงแม้จะมีร่องรอยผ่านการใช้มาบ้าง แต่เอกลักษณ์ที่สำคัญ คือ เม็ดแร่สีชมพูเข้ม บริเวณไหล่ขวาองค์พระ ซึ่งนักสะสมพระรุ่นเก่าเรียกกันว่า เม็ดพระธาตุ เสริมให้พระองค์นี้ดูมีมนต์ขลังมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าประจำสนามพระหน้าวัง (แหล่งชุมนุมเซียนพระประจำเมืองกรุงเก่า) ซึ่งถือได้ว่า เป็นตำนานประจำสนามพระเรื่องหนึ่งก็ว่าได้ กล่าวคือ เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งเอ่ยถึง พระขุนแผน กรุโรงเหล้า หรือ กรุวัดจักรวรรดิ ก็มักจะมีเซียนพระรุ่นเก๋า คนใดคนหนึ่ง เล่าเรื่องถึงประสบการณ์ของพระขุนแผนกรุนี้ขึ้นมาทันที
เรื่องมีอยู่ว่า มีเซียนพระ ๓ คน แย่งกันจีบผู้หญิงคนเดียวกัน แต่ละคนต่างมีของดีอยู่ประจำกาย คนที่หนึ่งห้อยพระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล คนที่ ๒ ห้อยพระขุนแผน กรุโรงเหล้า และคนที่ ๓ ห้อยพระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี
ปรากฏว่า คนที่ห้อย พระขุนแผน กรุโรงเหล้า ชนะใจผู้หญิงคนนั้น (จะด้วยเพราะอะไรก็แล้วแต่) ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นตำนานส่วนหนึ่งก็เพราะว่า เป็นครั้งแรกที่ พระขุนแผน กรุ “ดัง” ทั้ง ๓ กรุ มาประชันกันในด้านเมตตามหานิยม ผ่านความเชื่อของผู้บูชาติดตัว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องจริงที่มีผู้เล่าให้ผู้เขียนฟังอีกหลายเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธคุณด้านเมตตามหานิยมทั้งสิ้น จนเป็นที่เล่าขานของวงการเซียนพระเมืองกรุงเก่าอย่างกว้างขวาง
พระขุนแผน กรุโรงเหล้า กรุวัดจักรวรรดิ เป็นพระกรุ เนื้อดินเผา ที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี สร้างโดยพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างด้วยเทคโนโลยี่ที่ซับซ้อนมากกว่าพระเนื้อดินเผาทั่วๆ ไป พุทธศิลป์ก็งดงาม อ่อนช้อย ลงตัว อีกทั้งยังขึ้นหิ้งพระในตำนานพระที่พบเห็นได้ยากมาก…ในทุกวันนี้

รีวิว

ยังไม่มีบทวิจารณ์

มาเป็นคนแรกที่วิจารณ์ “พระขุนแผนกรุโรงเหล้า จ.อยุธยา(ไม่เคลือบ)”

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Your custom content goes here. You can add the content for individual product

Back to Top